SERVICEโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs)

 

โปรแกรมตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections) คือโรคที่มีการแพร่กระจายติดต่อกันระหว่างบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันเป็นหลัก (Unprotected sexual contact) หรืออาจติดต่อผ่านทางช่องทางอื่น ๆ เช่นการสัมผัสสารคัดหลั่ง และการติดต่อทางเลือด เป็นต้น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคหากตรวจพบช้า หรือปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสุขภาพของระบบประสาท, ระบบหลอดเลือดหัวใจ, ความสามารถในการมีบุตร (Infertility), เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, นกเขาไม่ขัน หรือแม้กระทั่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ได้

คนที่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการและมักไม่รู้ตัว หากมีอาการ อาการที่พบบ่อยคือ การมีของเหลวหรือหนอง (Discharge) ไหลออกมาจากช่องคลอดหรือทางเดินปัสสาวะ มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ และปวดบริเวณท้องน้อย (Lower Abdomen) เป็นต้น

“คนที่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และมักไม่รู้ตัว”

โรคยอดฮิตที่คนไทยเป็น – สถิติจำนวนคนไทยที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครทราบตัวเลขที่แน่นอนว่าคนไทยมีการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) มากน้อยเพียงใด เพราะผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในระยะไม่มีอาการและไม่ได้เข้ารับการตรวจ อย่างไรก็ตาม เราอาจสามารถอ้างอิงได้จากสถิติในรายงานประจำปี พ.ศ.2565 ของ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ ดังนี้

  1. เอชไอวี (HIV): คาดว่าในไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ในปี พ.ศ. 2565 ทั้งสิ้น 561,578 คน และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,230 ราย โดยส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รองลงมาเกิดจากการฉีดสารเสพติดที่ไม่ปลอดภัย
  2. ซิฟิลิส (Syphilis): พบรายงานผู้ป่วย 12,296 ราย หรือคิดเป็น อัตราป่วย 18.6 รายต่อประชากรแสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี และรองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี
  3. โรคหนองใน (Gonorrhea): พบรายงานผู้ป่วย 5,625 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วย 8.5 รายต่อประชากรแสนคน สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย โดยพบในเพศชายถึง 84.8% และเป็นเพศหญิงเพียง 15.20%
  4. โรคหนองในเทียม (Non-Gonococcal Urethritis: NSU): พบอัตราป่วย 3.1 รายต่อประชากรแสนคน
  5. โรคแผลริมอ่อน: พบอัตราป่วย 1.3 รายต่อประชากรแสนคน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตัวเลขที่รายงานอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังไม่มีอาการและยังไม่รู้ตัว อีกทั้งอาจมีผู้ติดเชื้อที่อยู่นอกระบบการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย

นอกจากนี้ข้อมูลจากบางการศึกษา ที่ศึกษาเฉพาะกลุ่มและเฉพาะพื้นที่ อย่างเช่น การศึกษาในกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ (Sex worker) ในพื้นที่เมืองพัทยา ระหว่าง ปี พ.ศ. 2559-2563 พบการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) สูงถึง 172.41 ครั้ง/1,000 ตัวอย่าง และพบการติดเชื้อซิฟิลิส (Syphilis) ถึง 154.93 ราย/1,000 บุคคล-เดือน

 

รู้หรือไม่! โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจทำให้นกเขาไม่ขัน หรือเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

ผู้ชายหลายคนที่มีภาวะนกเขาไม่ขัน หรืออาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ นอกจากสาเหตุหลักๆ อย่างปัญหาเรื่องระบบหลอดเลือด ที่เป็นผลมาจาก โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ยาที่ใช้ และภาวะฮอร์โมนพร่องแล้ว สาเหตุที่คนมักมองข้ามไปอย่างการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน (Gonorrhea) และหนองในเทียม (Non-Gonococcal Urethritis) ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศได้เช่นเดียวกัน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ไม่มีผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แต่ในบางกรณี การติดเชื้อเอชไอวี (HIV), เชื้อไวรัสตับอักเสบ, หนองใน (Gonorrhea) และหนองในเทียม (Non-Gonococcal Urethritis) สามารถทำให้เกิดภาวะนกเขาไม่ขันได้ หากการติดเชื้อนั้นๆ ทำให้ต่อมลูกหมากติดเชื้อไปด้วยและเกิดการอักเสบของต่อมลูกหมาก (Prostatitis) ซึ่งนอกจากจะทำให้มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวแล้ว ยังทำให้หลั่งเร็วได้อีกด้วย (Premature Ejaculation)

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะสำคัญของระบบสืบพันธ์เพศชาย เชื่อมต่อกับท่อปัสสาวะ (Urethra) ในเพศชายเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถเข้าสู่ร่างกายทางปลายอวัยวะเพศ จากนั้นเข้าสู่ท่อปัสสาวะ (Urethra) และแพร่กระจายไปจนเกิดการอักเสบติดเชื้อของต่อมลูกหมากได้

ต่อมลูกหมากที่อักเสบหรือติดเชื้อ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บทั้ง ก่อน ระหว่าง หรือแม้กระทั่งหลังมีเพศสัมพันธ์แล้ว นอกจากนี้การติดเชื้อ เช่น หนองใน (Gonorrhea) อาจทำให้เจ็บและมีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ และจากตำแหน่งที่ต่อมลูกหมากตั้งอยู่เมื่อเกิดการอักเสบสามารถทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศชายลดลง กลไกทั้งหมดนี้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแข็งตัวและภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

ในผู้ติดเชื้อที่อาการชัดเจนมักได้รับการตรวจและรักษาอย่างรวดเร็ว แต่ในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย และมีปัญหาเรื่องการแข็งตัว (Erectile Dysfunction) หรือหลั่งเร็ว (Premature Ejaculation) มักไปตระเวนรักษาด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยช็อคเวฟ (Shockwave), การทำ P-Shot (การฉีด PRP หรือเกร็ดเลือดเข้มข้นเข้าองคชาตเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ), หรือให้ฮอร์โมนทดแทน แต่ไม่ได้ผลเพราะสาเหตุหลักอย่างการอักเสบของต่อมลูกหมาก (Prostatitis) และภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง (CPPS: Chronic Pelvic Pain Syndrome) ไม่ได้รับการแก้ไข

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs Screening)

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ ทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย เปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือในผู้ที่กำลังวางแผนแต่งงานหรือมีบุตร เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อสู่คู่รักและบุตร เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคสามารถถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วย

“ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ ทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ”

หากติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะมีอาการอย่างไร แบบไหนที่เข้าข่ายสงสัยจะติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • มีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ มีหนองไหล ปัสสาวะแสบขัด คัน มีผื่นขึ้น เป็นฝี หรือมีตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางหลุด รั่ว หรือฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีคู่นอนหลายคน หรือมีคู่นอนที่เสี่ยงต่อการติดโรค
  • ผู้ที่วางแผนแต่งงาน วางแผนการมีบุตร หรือ ต้องการตรวจก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนรักและทารกในครรภ์

อาการเฉพาะโรคที่ควรรู้ รู้ไว รู้ก่อนรักษาได้ทันท่วงที

  • โรคเอชไอวี (HIV): หลังรับเชื้อ ในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก ผู้ติดเชื้อ 40-90% จะเกิดอาการที่เรียกว่า ARS

    retroviral syndrome อาการจะคล้ายเป็นไข้หวัด ผู้ติดเชื้อจะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ และอาจมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวหลังมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางขาด หลุด หรือรั่ว หรือใช้เข็มฉีดยาอย่างไม่ปลอดภัย ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ และเลือกวิธีการตรวจหาเชื้อ HIV ที่เหมาะสม เพราะแต่ละวิธีจะมีความไวในการตรวจพบเชื้อต่างกัน

  • ซิฟิลิส (Syphilis): ผู้รับเชื้อหลายคนไม่มีอาการและไม่รู้ตัวเป็นเวลานานหลายปี จนเข้าสู่ระยะที่สายเกินไป อาการของซิฟิลิส (Syphilis) แบ่งเป็น 3 ระยะ
    1. ระยะที่ 1 (Primary syphilis): มีแผลขอบริมแข็งที่เรียกว่า Chancre ลักษณะเป็น รูปทรงกลม ไม่เจ็บ ที่อวัยวะเพศ, รูทวาร, หรือตามบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย แผลจะหายไปเองใน 3 – 10 วัน และบางครั้งผู้ป่วยจะไม่สังเกตเห็น ถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคซิฟิลิสจะเข้าสู่ระยะที่ 2
    2. ระยะที่ 2 (Secondary syphilis): มีผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า มีรอยสีขาวหรือเทาขึ้นในบริเวณอับชื้นเช่น แคม (Labia) ทวารหนัก, หรือตำแหน่งที่มีแผลขอบริมแข็ง (Chancre) อาการระยะนี้จะหายไปเอง และเข้าสู่ระยะพักตัวที่มักไม่มีอาการ (Latent Syphilis) ได้เป็นเวลาหลายปี
    3. ระยะที่ 3 (Tertiary syphilis): เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ เชื้อจะลุกลามไปสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย ผู้ติดเชื้อจะมีอาการทางระบบประสาท ระบบหลอดเลือดหัวใจ กระดูก และผิวหนัง เกิดอาการหลงลืม ชา อ่อนแรง เสียการทรงตัว บุคลิกภาพเปลี่ยน และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
  • หนองใน (Gonorrhea): จะเริ่มมีอาการในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ อย่างไรก็ตาม 1 ใน 10 ของเพศชาย และ 5 ใน 10 ของเพศหญิง จะไม่มีอาการที่เด่นชัด ทำให้ไม่รู้ตัวและไม่ได้รับการรักษา
    • อาการในเพศชาย: มีของเหลวสี ขาว, เหลือง, หรือเขียว ไหลออกจากปลายองคชาต รู้สึกเจ็บหรือแสบเวลาปัสสาวะ หนังหุ้มปลายบวมแดง เจ็บที่อัณฑะ (ไม่ค่อยพบ)
    • อาการในเพศหญิง: มีตกขาวผิดปกติ รู้สึกเจ็บหรือแสบเวลาปัสสาวะ ปวดบริเวณท้องน้อย (พบน้อย) มีเลือดออกระหว่างรอบประจำเดือน, ประจำเดือนมามากผิดปกติ, หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ (พบน้อย)
    • อาการบริเวณทวารหนัก, ลำคอ, และดวงตา: ทั้งเพศชายและเพศหญิงสามารถติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea) ที่บริเวณอื่นนอกจากอวัยวะเพศได้ เช่น ทวารหนัก, ลำคอ, และดวงตา หากน้ำอสุจิหรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดสัมผัสกับบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะมีลักษณะอาการเฉพาะที่ เช่น ตาแดง เคืองตา ตาบวม เยื่อบุตาอักเสบ มีปวดหน่วงหรือมีหนองไหลออกมาจากทวารหนัก

“1 ใน 10 ของเพศชาย และ 5 ใน 10 ของเพศหญิงที่ติดเชื้อหนองใน จะไม่แสดงอาการ”

  • หนองในเทียม (Non-Gonococcal Urethritis: NSU): ผู้ติดเชื้อ Chlamydia ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายอาจมีอาการนานประมาณ 2-3 วัน แล้วหายไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีเชื้อแล้ว ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวจึงแพร่กระจายเชื้อให้คู่นอนต่อไป กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อเพศชายไม่แสดงอาการ และกว่า 70% ของเพศหญิงไม่แสดงอาการเช่นกัน
    • อาการในเพศชาย: ปวดเวลาปัสสาวะ มีของเหลวสีขาว ขุ่นหรือใสก็ได้ ไหลออกจากปลายอวัยวะเพศชาย รู้สึกแสบหรือคันในท่อปัสสาวะ (Urethra) ปวดบริเวณอัณฑะ หากไม่ได้รักษา การติดเชื้ออาจลุกลามไปสู่ อัณฑะ และ Epididymis (โครงสร้างที่ใช้นำอสุจิออกจากอัณฑะ) และทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์จนมีภาวะบุตรยากตามมาได้
    • อาการในเพศหญิง: มีตกขาวผิดปกติ รู้สึกเจ็บหรือแสบเวลาปัสสาวะ ปวดบริเวณท้องหรืออุ้งเชิงกราน เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกนอกรอบประจำเดือน หากไม่ได้รักษา การติดเชื้ออาจลุกลามไปสู่มดลูก จนเกิดการติดเชื้อรุนแรงในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน (มดลูก, ท่อนำไข่, รังไข่) ซึ่งอาจนำไปสู่การท้องนอกมดลูก และเกิดภาวะมีบุตรยากในอนาคต

“กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อ Chlamydia เพศชายไม่แสดงอาการ และกว่า 70% ของเพศหญิงไม่แสดงอาการเช่นกัน”

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีกี่วิธี แบบไหนมีประสิทธิภาพดีที่สุด

  • การตรวจเลือด: สามารถใช้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี, ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี, และซิฟิลิสได้
  • การป้ายสิ่งส่งตรวจ (Swab): เหมาะสำหรับกรณีมีรอยโรค เช่นมีรอยแผล มีหนองหรือสารคัดหลั่งไหลออกมาจากอวัยวะเพศหรือทวารหนัก จึงใช้ตรวจหาหนองในแท้หรือหนองในเทียมได้ แต่ในกรณีที่ไม่มีรอยโรคหรือไม่มีอาการ ก็จะมีข้อจำกัดในการตรวจ
  • การเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจ PCR: วิธีนี้มีความไวและมีความสามารถในการตรวจพบเชื้อได้รวดเร็ว แม้ในขณะยังไม่แสดงอาการ ทำให้ทลายข้อจำกัดในการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs screening) เดิมๆ ลง วิธีดังกล่าวเรียกว่า PCR ย่อมาจาก Polymerase chain reaction ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายๆ “การถ่ายเอกสารของสารพันธุกรรม” PCR จะทำการเพิ่มขนาดสารพันธุกรรมที่เราต้องการตรวจหาจากสิ่งส่งตรวจที่มีปริมาณน้อยๆ ให้มากขึ้นจนตรวจพบได้ ทั้งนี้ความไวในการตรวจพบเชื้อและความจำเพาะของ PCR แต่ละที่มีความแตกต่างกันไป แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า PCR มีความไวมากในการตรวจพบเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีความไว (Sensitivity) ตั้งแต่ 97.1%-100% ขึ้นอยู่กับชุดตรวจ PCR ที่ใช้ การเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจ PCR จึงเป็นวิธีที่สะดวก และมีประสิทธิภาพในการตรวจหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายๆ เชื้อในคราวเดียวกัน (7-15 เชื้อ) เช่น ซิฟิลิส (Syphilis), หนองใน (Gonorrhea), หนองในเทียม (Non-Gonococcal Urethritis), เริม (HSV), แผลริมอ่อน (Haemophilus Ducreyi), เชื้อรา, และเชื้อแบคทีเรียต่างๆ และยังตรวจพบได้ไวตั้งแต่ระยะที่ยังไม่มีอาการ หรืออาการไม่ชัดเจนอีกด้วย

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการเจาะเลือดและวิธีการเก็บปัสสาวะเพื่อส่ง PCR

  • ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร สามารถทานอาหารได้ตามปกติ
  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเข้ารับการตรวจ 48 ชั่วโมง

ข้อปฏิบัติเพิ่มเติมสำหรับเพศหญิง

  • งดเว้นการทำความสะอาดล้างหรือสวนล้างช่องคลอดภายใน 48 ชั่วโมงก่อนมาตรวจ
  • ไม่เข้ารับการการตรวจช่วงที่มีประจำเดือน ให้เข้ารับการตรวจหลังจากที่ประจำเดือนหมดไปแล้วอย่างน้อย 7 วัน
  • ไม่ใช้ผ้าอนามัยชนิดสอด ครีมหรือยา ที่ใช้ทางช่องคลอดอื่น ๆ อย่างน้อย 48 ชั่วโมง
  • ไม่ตรวจภายในในช่วง 24 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ

 

นพ.ธนาคม สุขเจริญ
แพทย์ด้านสุขภาพเพศ และ แพทย์เฉพาะทาง Preventive Medicine
ประจำ Max Wellness Clinic

ข้อมูลอ้างอิง

  1. WHO – Sexually transmitted infections
  2. รายงานประจำปี พ.ศ.2565 ของ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  3. การศึกษาในกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศในพัทยา
  4. Acute HIV Infection – ScienceDirect
  5. WHO – Syphilis
  6. Gonorrhoea – NHS
  7. Chlamydia – NHS
  8. Polymerase Chain Reaction – Genome
  9. Comparison of Real-Q STIs Kit
  10. Sensitivity and Specificity of PCR Testing

“ มั่นใจ Max Wellness Clinic” “มาตรฐานโรงพยาบาล ในราคาคลินิก”