SERVICEPrEP ยาป้องกัน HIV

ยา PrEp คืออะไร รับได้ที่ไหน ใครควรใช้ ก่อนใช้ต้องตรวจอะไรบ้าง เรื่องที่ต้องรู้ ! เล่าโดยคุณหมอด้านสุขภาพเพศ

Key Point
  • PrEP คือ การใช้ยากลุ่มต้านไวรัส (antiretroviral medication) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV
  • ทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น ควรได้รู้ข้อมูลเรื่อง PrEP
  • ก่อนรับยา PrEP ทุกคนควรได้รับการตรวจหาเชื้อ HIV, ไวรัสตับอักเสบ ค่าการทำงานของไต และระดับไขมันในเลือด (สำหรับยาบางสูตร)
  • ทุก 3-6 เดือน ควรต้องมีการตรวจหาเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
  • PrEP ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส, หนองในแท้, หนองในเทียม ฯลฯ ได้

 

PrEP คืออะไร ใครบ้างควรใช้

          PrEP ย่อมาจาก (pre-exposure prophylaxis) คือ การใช้ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ชื่อว่า Antitretroviral ซึ่งเป็นยากลุ่มที่มีคุณสมบัติในการควบคุมและลดการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวีมาประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV

          ยา Prep จึงเหมาะกับคนที่ยังไม่ติดเชื้อ HIV แต่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อผ่านการมี Sex หรือการใช้สารเสพติดหรือ Recreational Drug ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

 

คุณอาจต้องใช้ยา PrEP ถ้า
  1. คู่นอนมีเชื้อ HIV หรือไม่แน่ใจว่าคู่นอนมีเชื้อหรือไม่
  2. ไม่ได้ใช้ถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  3. ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เคยติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน (Gonorrhoea) หนองในเทียม (Chlamydia) หรือ ซิฟิลิส (Syphilis)
  4. ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีประวัติการใช้สารเสพติดและยาเพื่อความบรรเทิง (Recrtional Drug) ด้วยวิธีการฉีด ไม่ว่าจะใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม

 

ต้องตรวจอะไรบ้างก่อนรับ PrEP

ก่อนรับยา PrEP ทุกคนควรได้รับการตรวจเลือดดังนี้

  1. ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV Test) ก่อนรับ PrEP ทุกคนควรได้รับการตรวจให้แน่ใจว่าไม่ได้ติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว เพราะยาที่ใช้รักษาคนที่ติดเชื้อ HIV กับยาที่ใช้ป้องกัน มีสูตรยาที่แตกต่างกัน การรับ PrEP โดยที่มีเชื้อ HIV อยู่แล้วอาจบดบังอาการ ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ คนไข้เสียโอกาสที่จะได้รักษา และเกิดการดื้อยาต้านเชื้อในอนาคตได้
  2. ตรวจค่าการทำงานของไต (Kidney Function Tests) ก่อนรับ PrEP ทุกคนควรได้รับการตรวจวัดระดับการทำงานของไต เพื่อใช้ในการเลือกยาสูตรที่เหมาะสม และเพื่อใช้เป็นค่า baseline ในการตรวจติดตามระหว่างรับยา

    ยา PreP แต่ละสูตร เหมาะกับคนไข้ที่มีระดับค่าการทำงานของไตต่างกันไป

    • F/TDF เหมาะกับคนที่มีค่า eCrCl >60 mL/min.
    • F/TAF เหมาะกับคนที่มีค่า eCrCl ≥30 mL/min.

    *ควรปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  3. ตรวจไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Test) ถ้าไม่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่เคยได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ก่อนรับ PrEP ควรได้รับการตรวจหาเชื้อทุกคน การมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีไม่ใช่ข้อห้ามในการใช้ PrEP และยา PrER บางสูตรเป็นตัวที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบีอยู่แล้ว แต่ถ้าคนไข้ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อแล้วหยุดยา PrEP จะทำให้เชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบ่งตัวอย่าวงรวดเร็ว (rebound) จนเกิดความเสียหายต่อตับได้
  4. ตรวจไขมันในเลือด (Lipid profile) ยา PrEP บางสูตร เช่น F/TAF ต้องตรวจระดับ Cholesterol และ Triglyceride ก่อนให้

 

ทาน PrEP อยู่ต้องตรวจอะไรบ้าง บ่อยแค่ไหน

1. ตรวจเชื้อเอชไอวี (HIV Test) ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อเอชไอวีทุก 3 เดือน เพื่อยืนยันว่ายังไม่ได้รับเชื้อ เพราะหากติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ยา PrEP ที่ทานอยู่จะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรักษา แพทย์จะต้องทำการเปลี่ยนสูตรยาให้

2. ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ยา PrEP ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส, หนองในแท้, หนองในเทียม ฯลฯ ได้ จึงควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD: Sexually transmitted disease) ทุก 3-6 เดือน  วิธีและความถี่ในการตรวจแพทย์จะพิจารณาจากความเสี่ยงของพฤติกรรมทางเพศของผู้รับ PrEP เช่น การเจาะเลือด, เก็บปัสสาวะ, หรือการป้ายเก็บสารคัดหลั่ง (Swab) จากช่องปาก, ทวารหนัก, หรือช่องคลอด 

สำหรับวิธีการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถพบเชื้อได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ คือวิธีการตรวจที่ชื่อว่า PCR (Polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นการเพิ่มจํานวนยีนหรือชิ้นส่วน DNA ที่สนใจในหลอดทดลองแบบ ซํ้าๆ กันหลายๆ รอบ (repeated cycles) ทำให้พบเชื้อได้อย่างรวดเร็ว มีความไวและความจำเพาะสูง

3. ตรวจติดตามค่าการทำงานของไต (Kidney Function Tests) ทุกๆ 3-6 เดือน แพทย์อาจพิจารณาตรวจถี่ขึ้น ถ้าคนไข้มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือทานยาอื่นที่มีผลต่อการทำงานของไต (ยากลุ่มต้านการอักเสบ NSAIDs) หากค่าไตแย่ลงมาก แพทย์อาจต้องให้คนไข้หยุดทาน PrEP

 

PrEP กันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้แค่ไหน

          หากทาน PrEP สม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่งจะสามารถลดโอกาสติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์ได้ถึง 99% และสามารถลดโอกาสติดเชื้อ HIV จากการใช้เข็มฉีดยาเสพสารเสพติดหรือ recreational drug ได้อย่างน้อย 74%

 

PrEP ทานยังไง ต้องทานกี่วันถึงจะป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้
วิธีทานแบบทุกวัน Daily Oral Prep

          เป็นวิธีที่เป็นที่ได้รับการยอมรับและมีข้อมูลว่ามีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HIV จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า จำนวนวันที่ระดับยา PrEP ในร่างกายจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่ป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ มีดังนี้

  • สำหรับการร่วมเพศทางทวารหนักกรณีเป็นฝ่ายรับ (Receptive anal sex) หลังทานต่อเนื่อง 7 วัน
  • สำหรับการร่วมเพศทางช่องคลอด (Receptive vaginal sex) การใช้เข็มฉีดยา (Injection drug use) และการร่วมเพศทางช่องปาก (Oral PrEP) หลังทานต่อเนื่อง 21 วัน
วิธีทานแบบ On Demand 2-1-1

          ยา PrEP บางสูตร เช่น F/TDF อาจสามารถทานแบบนอกวิธีมาตราฐาน (off-label)  2-1-1 ได้ ในกลุ่มเพศชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน (MSM: Men who have sex with men) คือ 

  • ทาน 2 เม็ด 2-24 ชั่วโมงก่อนมี sex
  • ทานอีก 1 เม็ด หลัง 2 เม็ดแรก 24 ชั่วโมง
  • ทานอีก 1 เม็ด หลัง 2 เม็ดแรก 48 ชั่วโมง

          อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่ได้รับการรับรองจากทาง CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกา ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะตัดสินใจเลือกว่าจะทานยาสูตรใดและแบบไหน

 

PrEP ต้องทานไปตลอดมั้ย อยากเลิกทาน PrEP เลิกได้ทันทีหรือไม่

          กรณีไม่อยากทานยา PrEP อีกต่อไปไม่ควรหยุดทันที ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของการรับเชื้อ ระดับยา PrEP หลังหยุดยาอาจอยู่ได้นาน 7-10 วัน และควรหาวิธีทางเลือกอื่นในการป้องกันการติดเชื้อ HIV หากยังมีความเสี่ยงในการรับเชื้ออยู่

 

รับยา PrEP ได้ที่ไหน 

สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครสามารถรับยา PrEP ได้ตามสถานพยาบาลดังต่อไปนี้

  • โรงพยาบาลศิริราช
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • คลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • โรงพยาบาลเลิดสิน
  • โรงพยาบาลตากสิน
  • โรงพยาบาลสิรินธร
  • Max Wellness Clinic

         หากใครไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่อยากรอคิวนาน และอยากได้ความรวดเร็ว เป็นส่วนตัว ก็สามารถเข้ารับบริการยา PrEP พร้อมปรึกษาทีมแพทย์ด้านสุขภาพเพศและทีมแพทย์เฉพาะทางที่ Max Wellness Clinic ได้เลยครับ

นพ.ธนาคม สุขเจริญ
แพทย์ด้านสุขภาพเพศ และแพทย์เฉพาะทาง Preventive Medicine
ประจำ Max Wellness Clinic

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.cdc.gov/hivnexus/hcp/prep/?CDC_AAref_Val=https://www.cdc.gov/hiv/clinicians/prevention/prescribe-prep.html

https://sites.google.com/site/prepfaq/doctors-labs/lab-tests

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4508611/#:~:text=Polymerase%20chain%20reaction%20is%20a,infection%2C%20followed%20by%20Neisseria%20gonorrhoeae

 

 

“ มั่นใจ Max Wellness Clinic”

“มาตรฐานโรงพยาบาล ในราคาคลินิก”