SERVICEรักษาภาวะหลั่งเร็ว

การรักษาภาวะหลั่งเร็ว: สาเหตุ ประเภท และวิธีการรักษา

ภาวะหลั่งเร็วหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ” หรือการล่มปากอ่าว คือภาวะที่ฝ่ายชายมีช่วงระยะเวลาในการหลั่งน้ำอสุจิเร็วและขาดความสามารถในการควบคุมให้หลั่งน้ำอสุจิช้าลง ส่วนเกณฑ์เวลาจะนับที่มีการหลั่งภายใน 1 นาทีหลังสอดใส่ในชนิดภาวะหลั่งเร็วแต่กำเนิด และภายใน 3 นาทีในชนิดภาวะหลั่งเร็วที่เกิดภายหลัง

ประเภทของภาวะหลั่งเร็ว

ภาวะหลั่งเร็วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. กลุ่มที่เป็นมาแต่กำเนิด (Lifelong primary PE)
    • ผู้ป่วยจะหลั่งอสุจิเร็วมากเกือบทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเกือบทุกคน ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์และหลั่งอสุจิเร็วมาโดยตลอด ค่า intravaginal ejaculation latency time (IELT) จะน้อยกว่าหรือใกล้เคียง 1 นาที ผู้ป่วยบางคนหลั่งอสุจิขณะเล้าโลมคู่นอน บางคนหลั่งอสุจิก่อนจะมีการสอดใส่อวัยวะเพศ
  2. กลุ่มที่เป็นในภายหลัง (Acquired secondary PE)
    • ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีปัญหาทางกาย ทางจิตใจ หรือมีโรคร่วมอื่นๆ ซ่อนอยู่ เช่น ความเครียด วิตกกังวลใน sexual performance, โรคทางจิตเวช, อวัยวะเพศไม่แข็งตัว (erectile dysfunction, ED), ต่อมลูกหมากอักเสบ (prostatitis), ไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism), อาการติดยาหรือถอนยา, การใช้สารเสพติด เป็นต้น อาการหลั่งเร็วเกิดขึ้นในช่วงชีวิตหนึ่ง หลังจากที่เคยหลั่งอสุจิปกติมาก่อนหน้านี้ อาการเกิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือหลั่งเร็วขึ้นทันทีในผู้ป่วย acquired PE จำเป็นต้องวินิจฉัยและรักษาโรคร่วมอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการหลั่งเร็วร่วมด้วยเสมอ

การรักษาภาวะหลั่งเร็ว

  1. เทคนิคการปรับพฤติกรรม
    • Start-Stop technique: หยุดกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ หยุดการสอดใส่อวัยวะเพศเมื่อกำลังจะหลั่งอสุจิ เมื่อยับยั้งการหลั่งอสุจิได้แล้ว จึงเริ่มกระตุ้นอารมณ์ทางเพศใหม่ เป็นการฝึกเพื่อให้รับรู้ความรู้สึกก่อนจะถึงจุดสุดยอด (pre-orgasm) เพื่อให้สามารถควบคุมการหลั่งอสุจิได้ดีขึ้น
    • Pause-Squeeze technique: เมื่อใกล้จะหลั่งอสุจิให้หยุดการสอดใส่อวัยวะเพศ และบีบเส้นสองสลึง (frenulum) ประมาณ 30 วินาทีจนทำให้เกิดอวัยวะเพศไม่แข็งตัวชั่วคราวและยับยั้งการหลั่งอสุจิได้
  2. การปรึกษาทางจิตวิทยากับนักบำบัดทางเพศ (Sex Therapist)
    • ข้อดี: แก้ปัญหาที่ตรงจุด ไม่เป็นอันตราย ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน เปิดโอกาสให้คู่รักได้เปิดอกคุยกันเรื่องเพศมากขึ้น
    • ข้อเสีย: นักบำบัดทางเพศมีน้อย สิ้นเปลืองเวลาและเงินในการบำบัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากคู่นอน ไม่เห็นผลทันที
  3. การรักษาด้วยยารับประทาน
    • Selective Serotonin Re-Uptake Inhibitor (SSRI): เช่น Dapoxetine (Priligy), paroxetine, sertraline, fluoxetine ผลข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ รู้สึกอ่อนแรง, หาวบ่อย, คลื่นไส้, ท้องเสีย, เหงื่อออก ซึ่งพบได้น้อย ส่วนผลข้างเคียงด้านสุขภาพทางเพศ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง หรือมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศพบได้น้อย
    • Phosphodiesterase-5 Inhibitors (PDE5i): เช่น Vardenafil, Tadalafil, Sildenafil โดยเฉพาะใน acquired PE ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย
  4. ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ (Topical Local Anesthetic)
    • เช่น Lidocaine Prilocaine ในรูปแบบครีมหรือสเปรย์ การใช้ถุงยางอนามัยที่มีส่วนผสมของสารลดความรู้สึก
  5. เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาพฐานเชิงกราน (Pelvic floor rehabilitation)
    • การบริหารกล้ามเนื้อในส่วนนี้เพื่อควบคุมการหลั่งอสุจิได้ดีขึ้น แต่ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน
  6. การรักษาด้วยการทำหัตถการ
    • Hyaluronic Acid (HA) Injection: การฉีดสารหล่อลื่นประเภทกรดไฮยาลูโรนิก เพื่อลดความไวของอวัยวะเพศ
    • Selective Dorsal Neurotomy (SDN) และ Cryoablation of Dorsal Penile Nerve: การตัดเส้นประสาท dorsal penile nerve เพื่อลดความไวของอวัยวะเพศ

ผลกระทบของการหลั่งเร็ว

  1. ผลกระทบต่อผู้ชาย
    • ผู้ชายที่มีภาวะหลั่งเร็วรู้สึกกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ บางครั้งถึงกับหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งหมด
  2. ผลกระทบต่อผู้หญิง
    • หญิงที่คู่รักมีภาวะหลั่งเร็วแทบจะไม่มีความพึงพอใจในการร่วมรักและกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ บางคนอาจรู้สึกโกรธและขุ่นเคือง เนื่องจากภาวะหลั่งเร็วดูคล้ายกับฝ่ายชายเห็นแก่ตัวในการร่วมรัก

โรคหลั่งเร็วเป็นปัญหาสุขภาพทางเพศของผู้ชายที่พบได้บ่อย ทำให้การมีเพศสัมพันธ์บกพร่อง ส่งผลกับความสัมพันธ์และคุณภาพชีวิตทั้งของตัวผู้ป่วยและคู่นอน ปัจจุบันแนวทางการรักษาโรคได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าได้ผลดีและมีความปลอดภัยในการรักษา อย่างไรก็ตามการรักษาควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด