เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า (HIFEM): นวัตกรรมแก้ปัญหาเสื่อมสมรรถภาพ-หลั่งเร็ว แค่นั่งเฉย ๆ ก็ฟิตได้จริงหรือ? (Part 1)

 

ปัญหาสุขภาพทางเพศชาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (นกเขาไม่ขัน) หรือการหลั่งเร็ว (ล่มปากอ่าว) ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและคุณภาพชีวิตของผู้ชายจำนวนมาก ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางก็คือ “เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า” หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่าเทคโนโลยี HIFEM (High-Intensity Focused Electromagnetic) ซึ่งถูกยกให้เป็นทางเลือกใหม่ที่สะดวกสบาย ไม่ต้องผ่าตัด และไม่ต้องเจ็บตัว แต่เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร? ได้ผลจริงแค่ไหน? และปลอดภัยหรือไม่? บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกทุกแง่มุมของเก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้าคืออะไร? ทำไมถึงเรียกว่า “เก้าอี้ขมิบ”

 

เก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า คืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความเข้มสูงแบบเฉพาะเจาะจง (High-Intensity Focused Electromagnetic – HIFEM) หลักการทำงานของมันคือการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงลงไปกระตุ้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อชุดสำคัญที่อยู่ลึกภายในร่างกาย  

กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศชายอย่างไร?

กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่การพยุงอวัยวะในช่องท้องและควบคุมการขับถ่ายเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทโดยตรงต่อสมรรถภาพทางเพศชายในหลายมิติ:

  1. การแข็งตัวของอวัยวะเพศ (Erectile Function): ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคงความแข็งตัวของอวัยวะเพศ กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ Ischiocavernosus และ Bulbospongiosus มีหน้าที่ในการบีบรัดโคนอวัยวะเพศ ซึ่งจะไปกดหลอดเลือดดำ (Veins) ทำให้เลือดที่ไหลเข้ามาคั่งอยู่ในแกนอวัยวะเพศไม่สามารถไหลออกไปได้ง่าย จึงช่วยให้สามารถคงความแข็งตัวไว้ได้นานและมีความแข็งแกร่ง หากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ จะไม่สามารถสร้างแรงบีบรัดที่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะเลือดดำรั่ว (Venous leak) ส่งผลให้การแข็งตัวไม่เต็มที่หรืออ่อนตัวเร็ว
  2. การควบคุมการหลั่ง (Ejaculatory Control): กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิกิริยารีเฟล็กของการหลั่ง (Ejaculatory reflex) การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงการควบคุมของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular control) ที่ดีขึ้นจากการบำบัดด้วย HIFEM ถูกตั้งสมมติฐานว่าจะช่วยให้ผู้ชายสามารถควบคุมจังหวะการหลั่งได้ดีขึ้นตามความต้องการ
  3. การไหลเวียนโลหิต (Blood Flow): การออกกำลังกายกล้ามเนื้ออย่างเข้มข้นจากการบำบัดด้วย HIFEM ยังช่วยส่งเสริมการไหลเวียนโลหิตทั่วทั้งบริเวณอุ้งเชิงกรานให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตอบสนองทางเพศและการมีสุขภาพการแข็งตัวที่ดี

ดังนั้น การบำบัดด้วยเก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้าจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยตรง

 

 

ผลลัพธ์จากงานวิจัยเป็นอย่างไรบ้าง?

แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ แต่ก็เริ่มมีงานวิจัยที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของเก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้าออกมาให้เห็นบ้างแล้ว

งานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพเพศชาย (ED)

  • งานวิจัยของ Brandeis (2024): ถือเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงที่สุด เป็นการศึกษาในกลุ่มผู้ชาย 28 คน ที่มีภาวะ ED โปรโตคอลการรักษาประกอบด้วยการบำบัดด้วยเก้าอี้ HIFEM ครั้งละ 28 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นจำนวน 10 ครั้ง ผลลัพธ์จากงานวิจัยใช้แบบสอบถามมาตรฐานสากล International Index of Erectile Function (IIEF) ในการประเมินผล และพบการปรับปรุงที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในหลายด้าน ได้แก่ ความสามารถในการคงความแข็งตัวจนเสร็จสิ้นการมีเพศสัมพันธ์ดีขึ้น 37.0%, ความพึงพอใจต่อการมีเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น 24.2% และความถี่ในการถึงจุดสุดยอดเพิ่มขึ้น 18.9%
  • งานวิจัย FMS ของ El-Fakahany และคณะ (2025): งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบ Cohort โดยใช้เทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันคือ Flat Magnetic Stimulation (FMS) ในผู้ป่วย ED จำนวน 180 คน โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือผู้ที่มีภาวะ ED จากความผิดปกติของหลอดเลือดแดง กลุ่มที่ 2 คือผู้ที่มีภาวะ ED จากความผิดปกติของหลอดเลือดดำ และกลุ่มที่ 3 คือ ผู้ที่มีภาวะ ED จากปัญหาด้านจิตใจ โปรโตคอลการรักษาประกอบด้วยการบำบัดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นจำนวน 40 ครั้ง แม้จะไม่ใช่เทคโนโลยี HIFEM โดยตรง แต่หลักการกระตุ้นด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าที่คล้ายกัน ผลลัพธ์จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยทุกรายมีคะแนน IIEF-15 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสาเหตุทางจิตใจ (psychogenic ED) หลังการรักษาด้วย FMS

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือข้อจำกัดของงานวิจัยเหล่านี้ งานวิจัยของ Brandeis เป็นเพียงการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก และไม่มีกลุ่มควบคุม (Control group) เช่นเดียวกับงานวิจัย FMS ทั้งสองงานวิจัยยอมรับถึงความจำเป็นในการศึกษาเพิ่มเติมในรูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial – RCT) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการติดตามผลในระยะยาว

อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือ แม้ว่าอุปกรณ์อย่าง BTL Emsella จะได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) สำหรับการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด แต่การนำมาใช้รักษาภาวะ ED ยังถูกพิจารณาว่าเป็นการใช้นอกข้อบ่งใช้ (Off-label use) ซึ่งได้รับความนิยมเนื่องจากมีการสังเกตเห็นประโยชน์ในด้านนี้ ข้อบ่งใช้หลักที่ได้รับการรับรองจาก FDA (K181497) คือ “เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อ่อนแอ และการฟื้นฟูการควบคุมของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ สำหรับการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในชายและหญิง”

 

งานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาภาวะหลั่งเร็ว (PE)

  • งานวิจัยในอดีตที่เป็นรากฐานสำคัญคืองานของ Pastore et al., (2014) ได้ประเมินผลของ “การฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน” โดยขั้นตอนหนึ่งมีก่รใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electrostimulation) ในการรักษาผู้ชายที่มีภาวะหลั่งเร็วแต่กำเนิด (Lifelong PE) 40 คน โปรโตคอลการรักษาประกอบด้วยการบำบัด 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่า ผู้ป่วย 33 รายจากทั้งหมด 40 ราย มีระยะเวลาการหลั่งหลังจากสอดใส่จาก ค่าเฉลี่ย 39.8 วินาที เพิ่มเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 146.2 วินาที แม้จะเป็นเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน แต่งานวิจัยนี้ได้สร้างหลักการที่สำคัญว่าการบำบัดที่มุ่งเป้าไปยังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นกลยุทธ์ที่มีเหตุผลและมีศักยภาพสำหรับภาวะ PE
  • แม้หลักฐานงานวิจัยที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการจะยังมีไม่มากนัก แต่หลักการทำงานของเครื่องที่ช่วยเสริมสร้างการควบคุมกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานนั้นสอดคล้องกับทฤษฎีการรักษาภาวะหลั่งเร็วโดยตรง คลินิกหลายแห่งจึงนำมาใช้และรายงานผลตอบรับที่ดีจากผู้ป่วย และปัจจุบันก็มีการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ที่กำลังศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่

 

บทความนี้ได้บอกเล่าถึงกลไก ประโยชน์จากการใช้ HIFEM รวมถึงสรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่หน้าสนใจแล้ว ในบทความหน้าจะพูดถึงขั้นตอนและโปรโตคอลในการรักษาจากงานวิจัยฉบับต่าง ๆ รวมถึงการเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ พร้อมสรุปความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญครับ

 

นพ. ธนาคม สุขเจริญ
แพทย์ด้านสุขภาพเพศ และแพทย์เฉพาะทาง Preventive Medicine
ประจำ Max Wellness Clinic

https://academic.oup.com/jsm/article/21/Supplement_1/qdae001.120/7600867

https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC12180250/

https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC4003840/

บทความที่เกี่ยวข้อง