KNOWLEDGEอาการติด Sex แค่ไหนเรียกผิดปกติ เราจะวินิจฉัยได้อย่างไร

สิ่งแรกที่ต้องรู้คือแพทย์จะไม่ได้ทำการวินิจฉัยอาการติด Sex จากจำนวนครั้งหรือความถี่ในการช่วยตัวเองหรือการมีเพศสัมพันธ์ เพราะในทางการแพทย์เองก็ยังไม่ได้มีความเห็นตรงกันว่าอาการติด Sex ควรจะมีเกณฑ์วินิจฉัยอย่างไร แม้แต่ศัพท์บัญญัติทางการแพทย์ (Medical Term) ก็ยังบัญญัติไว้ไม่ตรงกัน บางฝ่ายเรียกอาการติด Sex ว่า Hypersexuality บางฝ่ายก็เรียกว่า Sexual addiction หรือ Sexual Compulsivity

เกณฑ์กลางที่พอจะใช้ยึดในการวินิจฉัยได้ คือ เกณฑ์ของ ICD 11 และ DSM-5

  • ICD-11 ย่อมาจาก International Classification of disease ซึ่งคือ บัญชีจำแนกโรคทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาทางสุขภาพ
  • DSM-5 ย่อมาจาก Diagnostic & Statistical Manual of Mental Disorder ซึ่งคือ หนังสือรวบรวมเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตของสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกัน

ICD-11 ให้คำอธิบาย Compulsive Sexual Behavior Disorder ไว้ดังนี้

1.ไม่สามารถควบคุมแรงกระตุ้นที่นำไปสู่พฤติกรรมทางเพศได้

2.มีพฤติกรรมทางเพศเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต จนถึงขั้นปล่อยปละละเลยมิติด้านอื่นๆ เช่น สุขภาพ และอนามัยส่วนบุคคล ละทิ้งความรับผิดชอบหรือกิจกรรมอื่นๆ หรือทำพฤติกรรมทางเพศโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลเสียต่อตัวเองหรือไม่

3.ทำพฤติกรรมทางเพศนั้นซ้ำๆ ถึงแม้ตัวเองจะไม่ได้ชอบหรือไม่ได้มีความสุขความพึงพอใจกับมันแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถหยุดยั้งตัวเองได้

4.มีอาการมาอย่างน้อย 6 เดือน และเป็นหนักถึงขั้นกระทบต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม การศึกษาและหน้าที่การงาน

สำหรับ DSM-5 ฉบับปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่ได้บัญญัติเกณฑ์วินิจฉัยของ Hypersexual Disorder ไว้ แต่ก็มีคนเคยเสนอเกณฑ์วินิจฉัยไว้ดังนี้

A.ต้องมีอาการเหล่านี้ติดต่อกัน 6 เดือน อย่างน้อย 4 ใน 5 ข้อ

  1. ใช้เวลาแทบทั้งวันไปกับจินตนาการและความปราถนาทางเพศ และการวางแผนที่จะมีกิจกรรมทางเพศ
  2. มีกิจกรรมทางเพศเพื่อแก้อารมณ์ด้านลบ เช่น ความกังวล ภาวะซึมเศร้า ความเบื่อ
  3. มีกิจกรรมทางเพศเพื่อแก้เหตุการณ์เครียดในชีวิต
  4. พยายามควบคุมตัวเองแต่ล้มเหลว
  5. มี Sex โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่นหรือไม่

B.พฤติกรรมนั้นมีผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมและหน้าที่การงาน

C.อาการที่เกิดขึ้นต้องไม่ได้เป็นผลมาจากโรคจิตเวชอื่นๆ หรือสารเสพติดต่างๆ

D.วินิจฉัยในคนอายุเกิน 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าการจะบอกว่าใครมีอาการติด Sex หรือไม่ ไม่มีเกณฑ์เรื่องจำนวนครั้งหรือความถี่ใดๆ โดยสรุป

ในทางการแพทย์จะวินิจฉัยอาการติด Sex ว่าเข้าขั้นผิดปกติจนถือว่าเป็นโรคก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยมีอายุเกิน 18 ปี, มีอาการมานานเกิน 6 เดือน, ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมทางเพศได้ถึงแม้จะพยายามแล้ว และพฤติกรรมนั้น ต้องร้ายแรงถึงขั้นส่งผลเสียต่อ ตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง

การรักษา

ต้องเริ่มจากการแยกให้ได้ก่อนว่าอาการติด Sex ของคนไข้เป็นผลมาจาก ยา, สารกระตุ้น, หรือโรคอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งถ้าเจอสาเหตุแล้วรักษาโรคนั้นๆได้ อาการติด Sex ก็จะดีขึ้น

ในส่วนของการรักษาโรคติด Sex ก็จะมีทั้งการรักษาแบบใช้ยา และแบบไม่ใช้ยา เช่น การให้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทต่างๆ ในสมอง หรือการทำ CBT (Cognitive Behavior Therapy) ซึ่งคือการบำบัดจิตโดยปรับความคิดและพฤติกรรม

ถ้าท่านสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคติด Sex หรือไม่ ขอแนะนำให้ไปปรึกษากับจิตแพทย์ จะดีที่สุดครับ

นพ.ธนาคม สุขเจริญ
แพทย์ด้านสุขภาพทางเพศ
และแพทย์เฉพาะทาง Preventive Medicine
Max Wellness Clinic

บทความที่เกี่ยวข้อง

Plaque ต้นตอสำคัญของภาวะนกเขาไม่ขัน

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ED เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ชาย พบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนและวัยสูงอายุ โดยสาเหตุหลักๆ ของ ED เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศชาย ความผิดปกติของฮอร์โมน และโรคประจำตัว การรักษาภาวะ ED หรือนกเขาไม่ขันมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค เช่น การใช้ยา การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ การใช้เวชศาสตร์ฟื้นฟู ไปจนถึงการผ่าตัด ในปัจจุบันเราจะเริ่มได้ยินเรื่องการใช้สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์บำบัด (Stem Cell Therapy) มาใช้ในการรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (ED: Erectile Dysfunction) กันมากขึ้น หลายๆที่มีการทำการตลาดกันอย่างหนัก และมีการอ้างถึงประสิทธิภาพของเซลล์บำบัดว่าคือยาวิเศษที่ไร้ข้อจำกัดในการรักษา สามารถทำให้อวัยวะเพศกลับมาแข็งได้ แต่ในความเป็นจริง สเต็มเซลล์ ก็มีข้อจำกัดเหมือนวิธีการรักษาอื่นๆ ซึ่งมีทั้งผู้ที่รับผลลัพธ์ดีและผู้ที่ไม่ได้รับผลลัพธ์ที่ดีมากนัก ขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายในแต่ละบุคคล ฉะนั้นการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง